แนวคิด – ปรัชญาและบทบาทของ CFBT

โดยนายเฉลิมชัย จิตตะยโศธร

ประธานกรรมการมูลนิธิธรรมิกชนฯคนแรก ( ปี 2526-2530)

ผู้อำนวยการมูลนิธิธรรมิกชนฯ (ปี 2542-2559)

ปัจจุบัน; ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิธรรมิกชนฯ

*****************************************************************************************************************

ย้อนอดีตไปเมื่อปี 2521 ตั้งแต่เริ่มโครงการ สถานคริสเตียนสงเคราะห์การศึกษาคนตาบอด ที่บ้านเช่าซอยธารทิพย์ ถนนประชาสโมสร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มาจนถึงปัจจุบัน มูลนิธิโดยการนำของผู้นำในทุกช่วงการนำ ได้พยายามต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักทุกรูปแบบพร้อมทั้งพัฒนาการบริหารจัดการและการให้การบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยคนตาบอดให้สามารถดำรงชีพในสังคมได้อย่างเท่าเทียม โดยสรุปหลักยึดแนวคิดในการดำเนินกิจการของธรรมิกชนที่ผ่านมามีดังนี้

แนวคิด - ปรัชญาการทำงานของ CFBT

          1. เรายอมรับและยึดแนวทางตามที่ประชาคมโลกได้ให้ความสำคัญกับคนพิการ โดยสหประชาชาติได้มีปฏิญญาว่าด้วย สิทธิของคนพิการทางสมองและปัญญา, ปฏิญญาว่าด้วย สิทธิของคนพิการ, อนุสัญญาว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพและการจ้างงาน (คนพิการ), กฎมาตรฐานในการสร้างความเสมอภาคทางโอกาสสำหรับคนพิการ รวมทั้งความต้องการพิเศษด้านการศึกษา

          2. ยอมรับว่าพื้นฐานและการก่อกำเนิดของธรรมิกชนมาจากความเชื่อและศรัทธาของคริสต์เตียนโดยมีนัยสำคัญดังนี้

               2.1 เชื่อว่ามูลนิธิได้ถูกกำหนดโดยพระเจ้าให้เป็นเครื่องมือที่จะนำความรอดมาสู่ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น ดังนั้นการดำเนินการทุกประการจะต้องสะอาดโปร่งใส เปี่ยมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงาม

               2.2   เชื่อว่าพระเจ้าให้ศักยภาพแก่ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นเท่าเทียมกับคนปกติ

               2.3   ทรัพย์สมบัติที่ได้มาไม่ใช่ของผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมา เพื่อใช้ในภารกิจส่งเสริมช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น เราจะนำใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น          

          3. เราจะทุ่มเท ตอบสนองทุกวิถีทางที่จะป้องกัน ส่งเสริม ช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น ให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างราบรื่น มีศักดิ์ศรีตามศักยภาพที่พระเจ้าประทาน ให้  

          4. เราจะร่วมมือกับภาครัฐและทุกภาคส่วนของสังคมในการช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็นให้สามารถดำเนินชีพในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

การดำเนินบทบาทของมูลนิธิ        

          1) บทบาทในการเป็นผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Change Agent = Agency  to bring about social value change) 

               คนโดยทั่วไปมักจะคิดว่า  ผู้พิการทางการเห็นเป็นบุคคลที่ไม่มีความสามารถจะช่วยเหลือตนเองได้  ไร้สมรรถภาพในการดำรงชีวิต  ไม่สามารถเรียนหนังสือหรือศึกษาเล่าเรียนได้  ไม่สามารถพัฒนาได้ ดังนั้นผู้พิการทางการเห็นจึงถูกลืม  หรือจัดอยู่ในกลุ่มประเภทบุคคลที่ไร้คุณค่าของสังคม  เป็นได้เพียงขอทานเท่านั้น

ดังนั้นมูลนิธิฯจะเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติ ของสังคมทั่วไปว่า  คนพิการทางการเห็น(ตาบอด) ไม่ไร้สมรรถภาพ ไม่ไร้ความสามารถ เขาจะสามารถศึกษาเล่าเรียนประกอบอาชีพได้ดีเท่าๆกับคนปกติ เขาจะไม่เป็นภาระของสังคม เขาจะสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของใคร ถ้าสังคมให้โอกาสแก่เขา

          2) บทบาทในการเป็นผู้สาธิต (Demonstrator = to make the people know the possibilities.)

               การที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดและทัศนคติที่ว่า  ผู้พิการทางการเห็นสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาตนเองได้  ถ้าให้โอกาสแก่เขานั้น  จะต้องมีการสาธิต  การทดลองทำให้เห็นอย่างจริงจังจนบังเกิดผลสำเร็จ  ซึ่งจะเป็นเครื่องบ่งชี้ แสดงให้เห็นว่า  ผู้พิการทางการเห็น(ตาบอด) มีความสามารถพัฒนาตนเองได้ สามารถเรียนรู้ได้เช่นเดียวกันกับผู้ปกติทั้งหลาย ตัวอย่างเช่น โครงการเรียนร่วมที่มูลนิธิธรรมิกชนฯได้ดำเนินการในโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด จำนวน 5 โรงเรียน จนประสบผลสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของรัฐและต่อมา รัฐจึงได้ออกกฎหมายให้โรงเรียนของรัฐรับนักเรียนพิการเข้าเรียนร่วมกับเด็กนักเรียนปกติ  

               ดังนั้นมูลนิธิฯจึงต้องเป็นผู้ที่ทดลองทำ หรือสาธิตให้องค์กรรัฐหรือองค์กรเอกชนอื่นหรือสังคมเห็นว่า  การให้การช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็น(ตาบอด) เพื่อให้เขามีโอกาสพัฒนาตนเองได้นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

          3) บทบาทในการเป็นเป็นตัวเร่ง ผลักดันให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น/ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง และเร็วขึ้น(Accelerator)

               เมื่อทัศนคติเปลี่ยนแปลง  แนวความคิดได้รับการยอมรับ  แต่การที่จะก่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจังนั้นจะเป็นไปอย่างล่าช้า  เนื่องจากมีข้อจำกัด  อุปสรรคและปัญหามากมาย 

               ดังนั้นมูลนิธิฯ จึงเป็นผู้ที่จะต้องผลักดันและดำเนินการทุกวิถีทางที่จะให้การช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็น เช่นผลักดันให้มีกฎหมายรองรับสิทธิต่างๆของคนพิการ  ผลักดันในสถาบันการศึกษาต่างๆให้ยอมที่จะรับคนพิการทางการเห็น(ตาบอด) เข้าศึกษาเล่าเรียนร่วมกับเด็กปกติ และอื่นๆอีก

          4) บทบาทในการเป็นผู้ประสานที่ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ  (Coordinator) 

               ในการให้การช่วยเหลือผู้พิการนั้น  ผู้ที่รับผิดชอบ(รัฐ) และองค์กรที่ทำงานในด้านนี้ซึ่งมีอยู่หลายองค์กรและแต่ละองค์กรก็จะมีลักษณะ/ รูปแบบ / วิธีการทำงานและวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไป

               ดังนั้นมูลนิธิฯจะต้องเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานและองค์กรอื่นๆ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็นมีประสิทธิผลและเขาเหล่านั้นได้รับประโยชน์สูงสุด     

          5) บทบาทในการเป็นผู้ร่วมงานกับองค์กรอื่น  (Partner)

               เป็นที่ทราบว่า  การให้การช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็นนั้นไม่ได้มีเพียงองค์กรหนึ่งองค์กรเดียว  แต่ละองค์กรต่างก็ให้ความช่วยเหลือในชนิดและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป  บางองค์กรก็ทำงานทั้งๆที่มีทรัพยากรไม่เพียงพอ, บุคลากรไม่เพียงพอ, ความรอบรู้ทางวิชาการไม่เพียงพอ และอื่นๆ การร่วมมือกัน ช่วยกันทำงาน แบ่งปันทรัพยากร ความรอบรู้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการให้การช่วยเหลือผู้พิการอย่างมีประสิทธิภาพ

               ดังนั้นมูลนิธิฯจะแสวงหาและให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน  เพื่อก่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้พิการทางการเห็น

          6) บทบาทในการเป็นนักปฏิบัติการ (Operator)

               ในการให้การช่วยเหลือบางอย่าง รัฐยังไม่สามารถดำเนินการตอบสนองต่อความต้องการของผู้พิการ ทางการเห็นได้  หรือได้แต่ไม่ทันท่วงที  ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากงบประมาณไม่เพียงพอ  กฎหมายไม่เอื้ออำนวยหรือระบบการทำงานที่ล่าช้า และ อื่นๆ

               ดังนั้น เพื่อตอบสนองให้ทันต่อความต้องการของผู้พิการทางการเห็น  มูลนิธิฯจึงต้องดำเนินการเองในกิจกรรมที่รัฐหรือหน่วยงานอื่นไม่ได้ดำเนินการหรือไม่สามารถดำเนินการได้    

          7) บทบาทในการเป็นผู้ให้การสนับสนุนและให้บริการต่างๆ (Supporter)

               การให้การช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็น  จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง  จะต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงและเฉพาะทางเป็นจำนวนมาก  จะอาศัยงบประมาณจากทางรัฐอย่างเดียวไม่เพียงพอและไม่ทันท่วงที        

               ดังนั้นมูลนิธิฯจึงต้องเข้ามามีส่วนช่วยเหลือให้การสนับสนุนแก่ผู้พิการทางการเห็น  จนกว่ารัฐจะสามารถให้การบริการได้อย่างทั่วถึง

          8) บทบาทในการเป็น เป็นนักวิจัย คิดค้นสิ่งใหม่ (Researcher)

               การให้การช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็นนั้น  ไม่มีสูตรสำเร็จโดยเฉพาะ  วิธีการและรูปแบบและการให้การช่วยเหลือจะต้องได้รับการประเมินผลและปรับปรุงใหม่อยู่เสมอเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสะถานการปัจจุบัน  (ต้องคิดใหม่ ทำใหม่อยู่เสมอ) 

               ดังนั้นมูลนิธิฯจึงจะเป็นผู้ทำการคิดค้นแนวทางใหม่ๆหรือจัดหาวัสดุอุปกรณ์ใหม่ๆมาใช้เพื่อก่อเกิดประโยชน์สูงสุด

          9) บทบาทในการเป็น เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator =Prepare the way to make things possible)

               บางครั้งในการดำเนินภารกิจช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็นนั้น  มีหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรเอกชนอื่นกำลังจะดำเนินการหรือกำลังดำเนินการอยู่  ก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปดำเนินการอีกให้เป็นการซ้ำซ้อน  แต่มูลนิธิฯจะให้ความช่วยเหลือหรือเอื้ออำนวยในด้านตางๆเพื่อให้องค์กรรัฐหรือองค์กรเอกชนอื่นที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น  สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล  

          10) บทบาทในการเป็นที่ปรึกษา / ให้คำแนะนำ (Counselor)

               เนื่องจากองค์กรเอกชนมักจะเป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่นเชี่ยวชาญทางการให้การช่วยเหลือคนตาบอด, ตาบอดพิการซ้ำซ้อน, Autistic, เป็นใบ้ หรือพิการทางร่างกาย ดังนั้นองค์กรเอกชนที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางนี้ จะสามารถให้ความรู้ คำแนะนำแก่องค์กรเอกชนอื่นหรือองค์กรรัฐ

มูลนิธิฯเป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้พิการทางสายตามาเป็นเวลานานปี  มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ  จึงจะเป็นผู้คอยให้คำแนะนำแก่องค์กรอื่นๆในด้านความพิการทางสายตา