โครงการส่งเสริมการใช้งานและพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดออนไลน์

          สำนักหอสมุดเบญญาลัย มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2555 เริ่มโดย ดร. ประหยัด ภูหนองโอง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จากแนวคิดที่ว่า “ความรู้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก ย่อมสามารถสร้างความเท่าเทียมกันในสิทธิของมนุษย์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการออนไลน์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบห้องสมุดออนไลน์ ให้บริการสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น และเพื่อรวบรวม
สื่อสารสนเทศประเภทต่างๆ เพื่อให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมาย โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่าย
การผลิตสื่อของมูลนิธิธรรมิกชนฯ ทั้ง 10 สาขา สถาบันการศึกษา รวมทั้งองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

          เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 สำนักหอสมุดเบญญาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดหอสมุด พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า “อาคารเบญญาลัย” ซึ่งหมายความว่า “อาคารแห่งความรอบรู้” นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ สำหรับ นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น และบุคลากรของมูลนิธิฯ

โดยมีพันธกิจดังต่อไปนี้

           1.พัฒนาระบบการให้บริการออนไลน์ รวบรวม จัดเก็บสารสนเทศที่หลากหลายเพื่อให้บริการแก่ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นผ่านระบบให้บริการออนไลน์

           2.ให้บริการสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการศึกษา การค้นคว้าและการวิจัยสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น

           3.เสริมสร้างองค์ความรู้ ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น ตลอดจนการบูรณาการองค์ความรู้สู่แนวทางปฏิบัติและใช้งานได้จริง

           4.สนับสนุนและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร การบริการ การศึกษา การประกอบอาชีพ และการค้นคว้าวิจัย

          จากพันธกิจข้างต้น สำนักหอสมุดเบญญาลัยจึงได้พัฒนาห้องสมุดออนไลน์ที่ทุกคนเข้าถึงและสามารถใช้ประโยชน์ได้

          การดำเนินงานที่ผ่านมา สำนักหอสมุดเบญญาลัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการมาโดยตลอด โดยครั้งแรกเน้นด้านการพัฒนาระบบโครงข่ายให้บริการและอาสาสมัครผลิตสื่อสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น ครั้งที่ 2 เน้นด้านการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายห้องสมุด พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการผลิตและบริการสื่อเพื่อยกระดับเครือข่ายอาสาสมัครสำหรับการผลิตสื่อและให้บริการสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นให้มีจำนวนมากขึ้น ครั้งที่ 3 เน้นด้านการประเมินระบบการให้บริการของห้องสมุดออนไลน์เพื่อออกแบบและวางแผนพัฒนาระบบการให้บริการผ่านระบบออนไลน์แก่กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ และครั้งที่ 4 เป็นการรวบรวมข้อเสนอแนะจากผู้ใช้บริการ ผู้เชี่ยวชาญ กำหนดแผนการพัฒนาระบบห้องสมุดออนไลน์ที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

          จากกระบวนการพัฒนาระบบการให้บริการตามลำดับขั้นตอนดังกล่าวทำให้ได้ระบบห้องสมุดออนไลน์ที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ โดยมีลักษณะการให้บริการสื่อสารสนเทศหลักๆ ดังนี้

                   - ประเภทสื่อสารสนเทศแบบอักษรเบรลล์

                   - ระบบการอ่านหนังสือเดซี่ผ่านระบบออนไลน์

                   - สื่อสารสนเทศประเภท Audio Books

                   - สื่อสารสนเทศประเภท E-Books E-Magazines และ Multimedia เป็นต้น

          สื่อสารสนเทศทั้งหมดนี้ได้เผยแพร่ให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายภายใต้ระบบห้องสมุดออนไลน์ที่ได้มาตรฐาน รองรับการเข้าถึงสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นได้เป็นอย่างดี รวมถึงมี Application ห้องสมุด ให้บริการทั้งในระบบปฏิบัติการ IOS และ Android ซึ่งจะทำให้การบริการความรู้ ข่าวสาร ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถดาวน์โหลดสื่อจากห้องสมุดลงมาเล่นผ่านเครื่องเล่น DAISY Evo E10 อีกด้วย จากช่องทางการเข้าถึงสื่อสารสนเทศที่กล่าวมานั้น จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงสื่อสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น ที่ไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนได้ ซึ่งในขณะนี้การพัฒนาระบบการให้บริการดังกล่าวได้ทำการพัฒนาสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถใช้ประโยชน์จากสื่อสารสนเทศจากสำนักหอสมุดเบญญาลัย มูลนิธิธรรมิกชน
ได้อย่างเต็มศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใช้งานผ่านทางเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น รวมถึงเครื่องอ่านหนังสือ DAISY EVO E10 ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นสามารถเข้ามาเรียนรู้ ค้นคว้าหาข้อมูลได้ทุกที่ ทุกเวลา จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้และลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงสื่อของผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น ได้อีกช่องทางหนึ่ง

          ด้วยเหตุนี้สำนักหอสมุดเบญญาลัยจึงจัดโครงการพัฒนาบุคลากรด้านการให้บริการ บุคลากรผลิตสื่อ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการใช้งานห้องสมุดออนไลน์ให้กับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นขึ้นเพื่อให้ห้องสมุดออนไลน์เป็นที่รู้จัก รวมถึงสามารถเข้าใช้งานห้องสมุดให้เกิดประโยชน์สำหรับการดำรงชีวิต การศึกษาและการประกอบอาชีพสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ เป็นจำนวน 1,779,050 บาท
(-หนึ่งล้านเจ็ดแสนเจ็ดหมื่นเก้าพันห้าสิบบาทถ้วน-)


โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

           1.เพื่อส่งเสริมการเข้าใช้งานห้องสมุดออนไลน์สำนักหอสมุดเบญญาลัยและประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นทั่วประเทศ

           2.เพื่อแนะนำการใช้งานห้องสมุดออนไลน์ การใช้งานแอพพลิเคชั่นห้องสมุดในระบบปฏิบัติการ IOS Android และการใช้งานห้องสมุดผ่านเครื่องเล่น DAISY EVO E10 ให้แก่ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น

           3.เพื่อพัฒนาทักษะการผลิตสื่อ E-pub ให้กับหน่วยผลิตและให้บริการสื่อสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น

           4.เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ ด้านการให้บริการห้องสมุดออนไลน์แก่บุคลากรที่ดูแลด้านการให้บริการสื่อสารสนเทศสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น

           5.เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรในการแก้ปัญหา การให้คำแนะนำด้านระบบโครงข่ายอินเตอร์เน็ตภายในหน่วยงานที่รับบริการ

         

โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ

           1.นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น จำนวน 600 คน จากโรงเรียนสอนคนตาบอด 15 แห่งทั่วประเทศ

           2.บรรณารักษ์ และพนักงานผลิตและบริการสื่อ จำนวน 50 คน จากโรงเรียนสอนคนตาบอด 15 แห่งทั่วประเทศ

           3.พนักงานติดตั้งและให้บริการโครงข่ายอินเตอร์เน็ต จำนวน 20 คน จากโรงเรียนสอนคนตาบอด15 แห่งทั่วประเทศ

รวมกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้นเป็นจำนวน 670 คน

 

ผลที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ

           1. ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น จำนวน 600 คนทั่วประเทศสามารถเข้าใช้งานห้องสมุดออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น และเครื่องเล่น DAISY EVO E10 ได้

           2. บรรณารักษ์ จำนวน 25 คน จากโรงเรียนสอนคนตาบอด 15 แห่งทั่วประเทศ มีความรู้ทักษะการใช้งานห้องสมุดออนไลน์และสามารถให้คำแนะนำการใช้งานห้องสมุดแก่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นได้

           3. พนักงานผลิตและบริการสื่อ จำนวน 25 คน มีความรู้ ทักษะการผลิตสื่อ E-pub สามารถผลิตหนังสือ E-pub ให้บริการ และนำเอาความรู้ ทักษะการผลิตหนังสือ E-pub ไปถ่ายทอดให้แก่พนักงานผลิตสื่อและอาสาสมัครภายในหน่วยงานของตนเองได้

           4.มีจำนวนบุคลากรและอาสาสมัครในการผลิตสื่อ ประเภท E-pub เพื่อให้บริการผ่านทางห้องสมุดออนไลน์เพิ่มขึ้น

           5.มีบุคลากรที่ให้คำแนะนำ/แก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในการใช้งานระบบห้องสมุดออนไลน์ หรือระบบโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาระบบการให้บริการห้องสมุดออนไลน์ ได้ครอบคลุมทุกจุดรับบริการ

          ทั้งนี้ สำนักหอสมุดเบญญาลัยมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบให้บริการ การผลิตสื่อและให้บริการสื่อสารสนเทศผ่านระบบออนไลน์ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้เกี่ยวกับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น ตอบรับกับยุคของการเรียนรู้ในปัจจุบันที่ไม่มีที่สิ้นสุด สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสำนักหอสมุดเบญญาลัยที่ว่า "แหล่งเรียนรู้ออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น"